top of page

เฉลย 3 เหตุผล ทำไมลูกน้องไม่อินกับวิสัยทัศน์ของคุณ


ในฐานะของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ผู้จัดการฝ่าย หัวหน้าแผนก หรือแม้แต่หัวหน้าทีม คุณสมบัติข้อหนึ่งที่เสมือนเป็นข้อบังคับสำหรับคนที่อยู่ในสถานะหัวเรือเหล่านี้ เห็นทีคงหนีไม่พ้นเรื่องของการมี “วิสัยทัศน์” อันเป็นกล้องส่องทางให้ลูกเรือทุก ๆ คนได้เห็นภาพว่าจะพาพวกเขาออกเดินทางไปยังจุดหมาย ณ ที่แห่งใด ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นก้าวแรกของทุกสิ่งทุกอย่างเลยทีเดียว

ด้วยความสามารถในการอ่านเกมได้อย่างลึกซึ้ง สายตาที่กว้างไกล เฉียบคม ร่วมกับการติดสินใจที่เฉียบขาด เกิดเป็นผลรวมของวิสัยทัศน์ ที่เป็นทั้งแนวทาง ความหวัง และความเชื่อในการร่วมเดินตามของขบวนผู้ตาม ซึ่งหากขาดวิสัยทัศน์ไป หรือลูกน้องไม่เชื่อว่าวิสัยทัศน์นั้นจะเป็นไปได้ ไม่แม้แต่จะมีความรู้สึกร่วมด้วยกับวิสัยทัศน์นั้นเลย ปัญหาความระส่ำระสายจะกลายเป็นแขกที่ไม่ได้รับเชิญเข้ามาเยือนแน่นอนครับ

นี่จึงเป็นปัญหาที่น่ากลุ้มใจอย่างหนักของคนเป็นผู้นำ ว่าจะทำอย่างไรให้คนของตัวเองมีความเชื่อมั่น เห็นพ้องมองไปในทิศทางเดียวกันกับเรา ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างนั้นย่อมต้องมีสาเหตุ ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ? ทำไมลูกน้องถึงไม่ ‘อิน’ ไปกับวิสัยทัศน์ของเราเอาซะเลย ? เพื่อหาทางที่จะปรับให้มันเข้าที่เข้าทางต่อไปครับ

1. มันไม่เชื่อมโยงกับเขา

เป้าหมาย วิสัยทัศน์นั้นเป็นของเราคนเดียวหรือเปล่า ? มันเป็นของลูกน้องเราด้วยหรือไม่ ?

แล้วอะไรที่น่าจะทำให้รู้สึกว่ามันเป็นของเขาด้วย ? นี่เป็นเพียงตัวอย่างคำถามง่าย ๆ เพื่อทบทวนถึงเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกัน ว่ามันถูกตั้งออกมาจากเราเพียงคนเดียว หรือทุก ๆ คนมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องและผูกพัน (Commit) ไปกับมันจริง ๆ

ซึ่งสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการตั้งเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ใดก็ตาม คือพยายามอย่าทำให้เกิดคำถามตามมาในใจของลูกน้องที่ว่า “แล้วมันเกี่ยวอะไรกับฉัน ?” เพราะความก้าวหน้าของบริษัท ของฝ่าย ของแผนก หรือของทีม ที่ไม่ได้มีผลสร้างความเปลี่ยนแปลงพัฒนาชีวิตของเขาเลยสักด้าน ย่อมไม่อาจ Touch ความรู้สึกของเขาได้ และไม่รู้สึกว่ามีความหมายสำคัญอะไรสำหรับเขาเลย

ดังนั้นจึงอยากให้ลองทบทวนด้วยคำถามในลักษณะเดียวกับข้างต้นดูครับ ไม่แน่ว่าบางทีอาจได้คำตอบที่ช่วยเขี่ยเส้นผมที่บังภูเขาอยู่ เพื่อสร้างเป้าหมายวิสัยทัศน์ที่จะไปพิชิตภูเขาลูกเดียวกันยังไงล่ะครับ

2. เป้าหมายไม่ตรงกัน

สิ่งที่ทำให้เราและลูกน้องมีเป้าหมายที่ไปกันคนละทิศละทาง มักมีที่มาจาก 2 สาเหตุด้วยกันครับ

สาเหตุแรกนั้นอย่างที่ได้อธิบายไปในข้อที่แล้ว ถึงการที่ไม่ได้แง้มบานประตูให้ผู้ตามได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ไม่เคยได้รับรู้ถึงความคิด ความเห็น ความรู้สึก ที่สะท้อนถึงความต้องการจากพวกเขาเลย เส้นทางที่ถูกกำหนดขึ้นจึงไม่สอดคล้องกัน คนหนึ่งอยากไปซ้าย ในขณะที่อีกคนอยากไปขวา ส่งผลต่อความเต็มใจที่จะร่วมทางไปด้วยกัน เหมือนกับการบังคับให้ใครสักคนนั่งรถขึ้นดอย