top of page

4 ขั้นตอนสร้างคนทำงานให้มี Personal Brand


การสร้าง personal brand

ตามปกติแล้วเราคุ้นเคยกับคำว่า “แบรนด์” กันมาแต่ไหนแต่ไร ทั้งแบรนด์สินค้า/บริการ แบรนด์บริษัท และแบรนด์บุคคล ซึ่งเมื่อพูดถึง “แบรนด์บุคคล” หรือ “Personal Brand” เรามักจะนึกถึงบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งโดดเด่นที่มักจะเป็น CEO หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา วิทยากรที่มีชื่อเสียง คนที่เป็นหน่วยย่อย ๆ ขององค์กรหรือทีมงานตัวเล็ก ๆ จึงมักไม่ค่อยคิดว่าการสร้างตัวเองให้มีแบรนด์จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองสักเท่าไหร่ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ว่าใครก็สามารถส่งจุดเด่นความเก่งของตัวเองให้ออกมายืนอยู่ข้างหน้าจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและกลายเป็นแบรนด์ประจำตัวได้ทั้งสิ้น เพราะถ้าหากความสามารถของเราได้เป็นที่รู้จักหรือบอกต่อในแวดวงการทำงาน (ไม่จำเป็นต้องวงใหญ่มากก็ได้) โอกาสต่าง ๆ ก็จะมารอต่อแถวให้เราได้ออกไปโชว์ฝีมือมากขึ้น ยิ่งทำให้เราได้ลับศักยภาพของตัวเองให้เฉียบคมยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ภายในองค์กรเท่านั้น แต่เราอาจได้ร่วมโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจในโลกที่กว้างขึ้นอีกมากมายก็เป็นได้ ฟังดูน่าสนใจขึ้นมาแล้วใช่มั้ยล่ะครับ ถ้าอย่างนั้นเราไปทำความรู้จักกับวิธีการพัฒนา Personal Brand ให้กับตัวเองกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อคิดการทำงานสำหรับคนทำงาน โดยการจะสร้างแบรนด์นั้นย่อมหนีไม่พ้นที่จะอ้างอิงตามหลักของการตลาดเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นไปตามขั้นตอนที่เราจะพูดถึงดังนี้ 1. ชัดเจนใน “จุดแข็ง” ‘ความสามารถหลัก’ อันเป็นจุดแข็งประจำตัวเรา คือโจทย์สำคัญที่ต้องทำการบ้านให้ชัดเจนก่อน ตรงกันข้ามกับความพยายามที่จะเก่งมันทุกอย่างครอบจักรวาล จะส่งผลให้มองไม่เห็นจุดโดดเด่นเป็นพิเศษสักอย่าง ซึ่งไม่ต่างอะไรจาก ‘เป็ด’ ตัวหนึ่ง ถ้าเปรียบในเชิงการตลาดก็คือ Product/Service นั่นเองครับ ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่ต้องเห็น Value ให้ชัดว่าสิ่งที่เราทำนั้นจะสร้างประโยชน์อะไร ? ทางด้านไหน ? ให้กับใคร ? ถ้าวันนี้ยังมองตัวเองไม่ออกหรือเห็นได้ไม่ชัด การบ้านที่เราต้องทำก็คือการค้นหาตัวเอง โดยอาจเริ่มจากสิ่งที่ทำอยู่แล้วร่วมกับทักษะประจำตัวอื่น ๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสม ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเด่นหรือ ‘จุดขาย’ เฉพาะตัวขึ้นมาได้ สำหรับใครที่รู้ในความสามารถเด่นของตัวเองชัดเจนอยู่แล้วก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะถือว่าคุณมีความได้เปรียบสามารถก้าวไปได้เร็วกว่าคนที่ยังไม่ค้นพบตัวเองอยู่พอสมควร เรียกว่ามีความพร้อมสำหรับโอกาสที่จะเข้ามาได้ทันที ที่เหลือก็แค่ก้าวไปในขั้นตอนต่อไปเท่านั้นเองครับ 2. ส่งมอบ “คุณค่า” ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการนำทักษะความสามารถของตัวเองที่ค้นพบออกมาใช้อย่างเต็มที่ ทุกครั้งที่มีโอกาสไม่ว่าจะงานเล็กหรือใหญ่ จะค่าตอบแทนมากหรือน้อย จงคว้ามันมาทำอย่างสุดความสามารถ ปลุกศักยภาพของตัวเองใส่ลงไปอย่างเต็มกำลัง ในแบบที่เรียกว่า “จ้างหลักร้อย เล่นหลักล้าน” กันไปเลยครับ เมื่อเราได้ส่งมอบคุณค่า (Value) ที่ดีที่สุดออกไป คนอื่นจะรับรู้ได้ถึงคุณค่านั้น ๆ และการ ‘ให้ราคา’ ในสิ่งที่เราทำจึงจะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งเคล็ดลับสำคัญที่จะให้ได้ผลตอบรับที่ดียิ่งขึ้นไปกว่านั้นคือการสร้าง “Value Add” หรือ ‘การให้’ ที่พิเศษเกินความคาดหมาย คนอื่นทำอะไร ทำแบบไหน และทำแค่ไหน ให้เราทำในสิ่งที่มากไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยมองรอบด้านให้มากกว่า คิดเผื่อให้อีกสเต็ปมากกว่า ใส่ใจในรายละเอียดให้มากกว่า และอีกสารพัดที่จะมากกว่าได้ในแบบของเรา ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้เราต้องมีความเอาใจใส่ในรายละเอียดจุดเล็กจุดน้อยทุกซอกทุกมุมของสิ่งที่ทำเป็นอย่างมาก และมันย่อมดีกว่าแค่ทำตามหน้าที่ให้มันจบ ๆ ไปเป็นไหน ๆ เลยล่ะครับ 3. “สื่อสาร” มันออกไป การสร้างแบรนด์ให้ธุรกิจต้องมีการตลาดเพื่อสื่อสารให้ลูกค้ารู้จัก การสร้าง Personal Brand ให้ตัวเราเองก็เช่นกัน ในที่นี้อาจไม่ได้ถึงกับไปวางแคมเปญ ซื้อสื่อโฆษณาอะไรขนาดนั้นหรอกนะครับ แต่ให้ทำอย่างง่าย ๆ ด้วยการหาโอกาสที่ใกล้ตัวกว่านั้น โอกาสในการประชาสัมพันธ์ตัวเองที่ว่า เช่น การแสดงความคิดเห็น นำเสนอไอเดีย หรือเสนอตัวทำในสิ่งที่ถนัด ใน Meeting , กิจกรรม , สัมมนา หรือโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ซึ่งการอาสาก็เป็นเหมือนกับการทำ CSR อย่างหนึ่งครับ เหตุผลที่เราต้องสื่อสารตัวเองออกไป เพราะการที่ไม่มีใครรู้จักความสามารถเฉพาะตัวของเราเลย หรือมีแต่น้อยมากแค่หยิบมือเดียวก็ถือว่ายังขาด Awareness โดยสิ้นเชิง ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องไปแสดงออกถึงขั้นที่เป็นการอวดอ้างตัวเองหรอกนะครับ แต่เป็นการให้ที่อยู่บนพื้นฐานของความหวังดี อยากช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีสุดมากกว่า 4. พัฒนาสม่ำเสมอ จากที่ได้รับโอกาสมาตั้งแต่ข้อ 2 – 3 หน้าที่ต่อไปของเราคือการโชว์ฝีไม้ลายมือโดยรักษามาตรฐานไม่ให้ถดถอย คอยหมั่นทดสอบและพัฒนาความสามารถในด้านนั้น ๆ ให้ไต่ระดับขึ้นไปอยู่เสมอ เป็นกระบวนการทำซ้ำที่คล้ายกับการ Research & Development ไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พูดถึงเรื่องของความสามารถอันเป็นจุดแข็งเฉพาะตัวนั้น ในเมื่อถ้าเรามีของดีจริงอยู่ในตัว จะมัวเก็บเงียบไว้ทำไมล่ะครับ เพราะบางทีอาจมีคนที่รอความสามารถนั้นของเราอยู่ก็เป็นได้ งัดมันออกมาใช้ให้โลกได้รู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ และสร้างโอกาสให้ตัวเองจนเกิดเป็นแบรนด์ติดตัวไปด้วย Win – Win กันทุกฝ่ายแบบนี้ไม่ดีกว่าเหรอครับ ?