top of page

รู้จักตัวเอง ก้าวแรกของความสำเร็จ


ค้นหาตัวเอง

“ความสำเร็จ” ลอกเลียนกันได้จริงหรือ ? “ความสำเร็จ” คำที่ทุกคนได้ยินกันจนคุ้นหู ยิ่งสำหรับคนยุคใหม่อย่างเรา ๆ คำ ๆ นี้ยิ่งเหมือนคำท้าทายให้วิ่งไล่ไขว่คว้ามันมาให้ได้ ซึ่งหน้าตาของมันมักออกมาในลักษณะของ...

  • การได้ทำงานในองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ หรือระดับโลก

  • การได้ขึ้นตำแหน่งสูง ๆ มีหน้ามีตา ได้รับการยอมรับนับถือ

  • มีชื่อเสียง เงินทอง ที่มาพร้อมเสียงปรบมือ

  • ความร่ำรวย ได้เป็นอายุน้อยร้อยล้านหรือ

แม้ว่าความสำเร็จของแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันไป แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ก็มักหนีไม่พ้นนิยามข้างต้นที่คล้าย ๆ กัน ความสำเร็จของคุณก็เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า ? ไม่ว่าจุดหมายความสำเร็จที่คุณต้องการจะเป็นแบบไหน ขอเพียงตอบตัวเองให้ได้อย่างชัดเจนว่า... "ต้องการมันไปทำไม?" "มันเป็นความต้องการของเราจริง ๆ หรือเปล่า?" "ไม่ได้ไปท่องจำ ‘นิยามความสำเร็จ’ ของใครมาใช่มั้ย?" บางทีอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครหลายคนตอบคำถามเหล่านี้กับตัวเองไม่ได้ เพราะด้วยยุคที่คนเสพสื่อรอบตัวมากกว่าจะสื่อสารกับตัวเอง เราจึงละเลยการตั้งโจทย์คำถามกับตัวเอง แล้วไปรับเอาคำตอบจากข้างนอกมาแทนที่ พอขุดค้นคำตอบลงลึกไปจริง ๆ กลับพบเพียง ‘ความว่างเปล่า’ ดังนั้นก่อนที่จะออกเดินไปสู่จุดหมายปลายทาง เรามาตั้งต้นที่ก้าวแรกให้ถูกกันก่อนดีมั้ยครับว่าสิ่งที่เราต้องการแท้จริงคืออะไร ? เพราะถ้ายังหาประตูบานแรกให้เจอไม่ได้ แล้วจะไปสู่จุดหมายที่เรียกว่า ‘ความสำเร็จ’ ได้ยังไงกันล่ะครับ ในบ้านเราได้นำเอาจิตวิทยาการแนะแนวเข้าสู่ระบบการศึกษามานานกว่าสิบปี โดยมีพื้นฐานเพื่อค้นหาสาขาอาชีพที่เหมาะกับตัวเองทั้งในแง่ของ ‘ความสามารถ’ และ ‘ความสนใจ’ เฉพาะตัว แต่น่าเสียดายที่ปัจจัยสำคัญในการเลือกเส้นทางชีวิตเหล่านี้กลับถูกเบียดตกไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า “กระแสทางสังคม” ที่คอยกล่อมเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า... “เรียนหมอสิ หน้าที่การงานดี ได้รับการยอมรับนับถือ” “เรียนวิศวะสิ งานเท่ เงินดี มีอนาคต” “แล้วต่อด้วย MBA ไปเลย ราศีว่าที่ผู้บริหารจับเห็น ๆ” “ไม่ ๆ ๆ ต้องทำธุรกิจนี้สิ ถึงจะร่ำรวย ประสบความสำเร็จ” ฯลฯ กระแสสังคมไหลบ่าท่วมทับความคิดของเยาวชนจนโตมาเป็นผู้ใหญ่ โดยที่ข้างในกลับไม่รู้เลยว่า “มันใช่เส้นทางที่เหมาะกับเราจริง ๆ หรือเปล่า ?” ตัวอย่างข้างต้นที่กล่าวมาไม่ใช่ว่าไม่ดีนะครับ ทุกอาชีพมีเส้นทางที่ดีแตกต่างกันไปด้วยกันทั้งนั้น แต่มันจะดีที่สุดก็ต่อเมื่อเป็นเส้นทางที่เหมาะกับเราจริง ๆ ต่างหาก ในทางจิตวิทยามีการศึกษาเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นแนวทางมานานแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในเรื่องของความฉลาดเฉพาะด้านของบุคคลดังเช่น “พหุปัญญา” หรือ “Multiple Intelligence” ของ Dr.Howard Garner ที่วิจัยค้นลึกถึงความสามารถทางสมองและการเรียนรู้ ผลงานคลาสสิกเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกมานานหลายสิบปีนี้ ได้บอกให้เรารู้ว่าคนเรามีความถนัดที่เป็นเหมือนกับ ‘พรสวรรค์’ ถึง 9 ด้าน อันประกอบด้วย Linguistic , Logical , Musical , Spatial/Visual , Bodily, Intrapersonal , Naturalist , Existential รวมไปถึงการวิเคราะห์บุคลิกภาพเฉพาะตัวที่เหมาะกับอาชีพ ดังเช่นการศึกษาของ John L. Holland ผู้เป็นต้นตำหรับแบบทดสอบ Career Test ที่จำแนกบุคลิกภาพของคนเราออกเป็น 6 แบบด้วยกัน มีทั้ง Realistic , Investigative , Artistic, Social , Enterprising และ Conventional อันสะท้อนถึงสายอาชีพประเภทต่าง ๆ ที่คลิกกันได้ดีกับคุณลักษณะของบุคลิกภาพแต่ละแบบ ดังนั้นการที่เราเห็นคนที่ประสบความสำเร็จ แล้วคิดจะเดินตามรอยเท้าแบบเดียวกับเขาบ้าง ก็อาจไม่ได้ถูกทางเสมอไป เพราะใช่ว่าทุกอย่างจะเหมาะกับทุกคนไปซะหมด แล้วคุณล่ะครับ ทุกวันนี้รู้แล้วหรือยังว่าตัวเองเหมาะกับอะไร ? เอาเข้าจริง ๆ สิ่งที่หยิบยกมาเล่าให้ฟังเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับใครหลาย ๆ คน เพียงแต่สังคมส่วนใหญ่กว่าครึ่งค่อนก็ยังคงมองข้ามกันอยู่ ไม่เชื่อก็ลองหันไปมองดูรอบ ๆ ตัวสิครับ มีสักกี่คนที่สามารถตอบตัวเองได้ว่า... เส้นทางชีวิตที่เหมาะกับเขาคืออะไร ? ทุกวันนี้เขาได้เดินบนเส้นทางของตัวเองมั้ย ? ซึ่งถ้าใครตอบได้อย่างทันทีทันควัน ก็ต้องแสดงความยินดีกับเขาด้วยจริง ๆ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณเองก็จะได้ค้นพบคำตอบแบบนั้นเช่นกันครับ