7 วิธีเปลี่ยนเป็นพนักงานที่องค์กรไหน ๆ ก็อยากได้ตัว

เคยสังเกตมั้ยครับว่า ในที่ทำงานเรา มักจะมีใครบางคนที่ดูเหมือนเขาจะสามารถหาเวลาและพลัง มาจัดการรับมือกับงานมากมายที่ถาโถมเข้ามา ทั้งงานประจำและงานที่เป็นภารกิจพิเศษ และยังสามารถหาเวลาไปทำกิจกรรมส่วนตัวหลังเลิกงานได้เป็นอย่างดีด้วย และหากลองสังเกตอีกสักนิด เราอาจจะเห็นว่าคนกลุ่มนี้ดูมีทีท่าว่าจะสนุกสนานกับการปฎิบัติภารกิจต่าง ๆ มากมายเหล่านี้ ในขณะที่ใคร ๆ อีกหลายคนดูท่าทางอ่อนระโหยโรยแรงคล้ายมือถือแบตเตอรี่หมด ในช่วงวันทำงาน และมาเริ่มสดชื่นอีกครั้งคล้ายได้เพาเวอร์แบ็งค์ตอนบ่ายวันศุกร์ของวันหยุดยาว นั่นน่ะซิ “ ทำไมบางคนจึงมีเวลาทำงานและมีเวลาทำตามความฝันได้มากกว่าคนอื่น ทั้งที่เขาและเราก็มีเวลาเท่า ๆ กัน “ เราลองมาดูกันนะครับว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คนกลุ่มที่ว่านี้สามารถใช้เวลาที่มีเท่า ๆ กับเรา จัดการกับงานต่าง ๆ กับกิจกรรมในชีวิตได้เป็นอย่างดี ขออนุญาตเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่า "High Performer หรือมนุษย์จอมพลัง" นะครับ คราวนี้เราลองมาดูกันนะครับว่าระหว่างเรากับมนุษย์จอมพลังนี้ เราทำอะไรเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ 1) วางแผนการทำงานตั้งแต่ต้นปี
เราทุกคนพอเริ่มปีใหม่ก็เปี่ยมไปด้วยพลัง อยากจะทำโน่นนี่นั่นมากมาย เมื่อได้เป้าหมายการทำงานมาจากเจ้านายแล้ว เราก็จะทำการวางแผนการทำงานประจำปีจัดใส่ Calendar แบ่งเป็นเดือนเป็นสัปดาห์ ใช้ทั้งแบบธรรมดาพื้นๆ หรือใช้เครื่องมือต่างๆที่มีให้มากมายบนมือถือ บนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แผนการทำงานถูกวางแผนอย่างดีตั้งแต่ต้นปี ว่าปีนี้แหละจะเป็นปีทองของเราที่จะต้องบรรลุเป้าหมายความก้าวหน้าของชีวิตให้ได้ อย่างน้อยๆก็น่าจะได้เป็นพนักงานผลงานยอดเยี่ยมของหน่วยงานล่ะ นอกจากวางแผนเรื่องงานแล้ว เรายังวางแผนส่วนตัวด้วยเพื่อความสุข ความก้าวหน้าของชีวิต อาจจะรวมทริป การท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือต่างประเทศเข้าไปด้วย หน้าร้อนขอไปเล่นน้ำชายทะเล หน้าฝนขอออกทริปไปเที่ยวที่ชิลๆ หรือไปทำบุญ ส่วนปลายปีต้องจัดหนักหน่อย ช่วงอากาศเย็น ๆ แบบนี้ต้องเที่ยวทางเหนือ หรือออกไปลุยหิมะแถวญี่ปุ่น เกาหลีนู้น ตั๋วโลว์คอสเพียบจองกันได้ล่วงหน้า ทั้งแผนการทำงานและแผนการดำเนินชีวิตส่วนตัวถูกบรรจุลงในแผนการทำงานประจำปี (Calendar) เรียบร้อย ตั้งแต่เดือนมกราคม สบายใจได้ ออกสตาร์ทต้นปี เริ่มต้นคล้ายๆกันทุกคนทั้งเราและ กลุ่มที่เป็น มนุษย์จอมพลัง
2) เครื่องมือวางแผนการใช้เวลา
ในการวางแผนการทำงานเพื่อทำเป็นตารางเวลา (Calendar) ในข้อ 1) นั้น เราอาาจะใช้เครื่องมือต่างๆเข้าช่วยในการจัดลำดับความสำคัญ ระยะเวลาเริ่มต้น สิ้นสุด ความเกี่ยวข้องของกิจกรรมต่างๆ เวลาสำรอง รวมทั้งเรื่องงานและกิจกรรมส่วนตัว เป็น Calendar อันเดียว 24 ชม 365 วันไปเลย

ส่วนมากก็มักจะอิงกับแนวทางที่ใช้ตารางที่เรียกกันง่ายๆว่า "ตาราง สำคัญ vs เร่งด่วน" เป็นตัวช่วยจัดลำดับความสำคัญของงาน โดยอาจจะกำหนดเส้นแนวตั้งให้เป็น "ลำดับความสำคัญ" โดยสำคัญมากอยู่ด้านบน สำคัญน้อยอยู่ด้านล่าง ส่วนเส้นแนวนอนก็ให้เป็น "ความเร่งด่วน" โดยเร่งด่วนมากจะอยู่ทางซ้ายสุด และเร่งด่วนน้อยจะอยู่ทางขวาสุด ซึ่งจะทำให้เราได้พื้นที่ในการจัดลำดับความสำคัญออกมา 4 พื้นที่คือ Quarter 1 (Q1) : บนซ้าย = สำคัญมาก + เร่งด่วน Quarter 2 (Q2) : บนขวา = สำคัญมาก + ไม่เร่งด่วน Quarter 3 (Q3) : ล่างซ้าย = สำคัญน้อย + เร่งด่วน Quarter 4 (Q4) : ล่างขวา = สำคัญน้อย + ไม่เร่งด่วน โดยปกติของพวกเราแล้ว บ่อยครั้งที่เรามักจะเผลอเลือกทำงานที่อยู่ในตำแหน่ง Q1 และ Q3 ก่อนเลยเพราะความเร่งด่วนมาก่อน เมื่อเราใช้เวลาในการทำงาน Q1 กับ Q3 ไปเรื่อยๆ งานที่เป็น Q2 ก็จะเปลี่ยนจาก Q2 ไปเป็น Q1 โดยอัตโนมัติ เพราะเวลาหมด เราก็เลยต้องเร่งทำงาน Q1 (ที่กลายพันธ์มาจาก Q2) เพิ่มเข้าไปอีกชีวิตเราก็เลยยุ่งและนัวเนียอยู่กับงาน Q1 และ Q3 เป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลุ่ม มนุษย์จอมพลัง ล่ะ เริ่มต้นก็คล้ายกับเรา คือเริ่มทำ Q1 ก่อนเลยเช่นกันเพราะสำคัญและเร่งด่วน เมื่องาน Q1 เสร็จ มนุษย์จอมพลัง จะขยับไปเร่งทำงาน Q2 ก่อนงาน Q3 เพราะเขาให้น้ำหนักกับเรื่องความสำคัญของงาน เมื่อเร่งงาน Q2 เสร็จ ก็จะไม่มีงาน Q2 ที่กลายพันธ์ไปเป็นงาน Q1 เพิ่มและเมื่อมีเวลาก็จะมาเก็บงาน Q3 ต่อไป การที่ มนุษย์จอมพลัง เลือกทำงาน Q1 และ Q2 ก่อนก็เพราะเป็นงานที่มีความสำคัญ เขาจึงเลือกทำก่อน ส่วนงาน Q3 แม้จะเป็นงานเร่งด่วนแต่มีความสำคัญน้อยกว่างาน Q2 และเมื่อ "High Performers" ทำงาน Q2 นั้น เขาจะมีเวลามากพอที่จะทำงานที่สำคัญนี้ให้มีคุณภาพดีได้ เพราะมีเวลามากพอ แต่หากเป็นพวกเราที่เผลอปล่อยเวลาให้งาน Q2 กลายพันธ์ไปเป็นงาน Q1 แล้ว เราจะต้องรีบทำงานที่สำคัญนี้แข่งกับเวลา อาจจะมีคนสงสัยถามว่า "แล้วทำไม High Performers จึงสามารถไปทำงาน Q2 ก่อน งานที่เป็น Q3 ได้ล่ะ?" คำตอบอยู่ในหัวข้อถัดไปครับ "เปลี่ยนแนวคิด" 3) เปลี่ยนแนวคิดจาก "ทำไม (why) มาเป็น ทำอย่างไร(how)"
ในช่วงเวลาที่เรากำลังทำงานยุ่งๆอยู่ บ่อยครั้งที่เจ้านายเรามักจะเดินเข้ามาและเอ่ยถามด้วยประโยคประมาณนี้ว่า "เออ ตอนนี้ยุ่งมากไหมครับ/ค่ะ" (ขณะที่เรากำลังอึ้งและเตรียมหาคำปฏิเสธอยู่เพราะคุณก็กำลังยุ่งกับงานข้างหน้า) เสียงของเจ้านายคุณก็พูดต่อไปเลยโดยไม่ขาดตอนว่า "ผม/ดิฉันคงต้องขอรบกวนคุณหน่อย พอดีมีงานด่วนพิเศษเข้ามาและก็มีเพียงคุณนี่แหละที่น่าจะจัดการได้น่ะ .......OK นะครับ/ค่ะ อ้อ ขอก่อน 4 โมงเย็นวันนี้เลยนะครับ/ค่ะ ......ขอบคุณมากนะครับ/ค่ะ" ในสถานการณ์แบบนี้ ในฐานะพนักงานที่ดีขององค์กรก็จะต้องช่วยเป็นธุระจัดการงานเร่งด่วนนี้ ให้เสร็จทันเวลา 4 โมงเย็นตามคำขอโดยด่วน แต่เดี๋ยวก่อน! ตอนนี้ในสมองเรากำลังคิดอะไรครับ? .....กำลังคิดแบบนี้รึปล่าว ................. "อ้าว เอาอีกแล้ว งานด่วนทำไมต้องมาลงที่เราอีกแล้ว แล้วงานที่กองอยู่ข้างหน้าล่ะจะทำอย่างไร?.......แล้วนัดเย็นนี้อีกล่ะ ........ทำไมชอบมีแต่งานด่วนมาให้ทุกทีเลย ........ทำไมไม่ไปให้คนอื่นทำ ......ทำไม?.......ทำไม?" ในหัวของเรามีแต่คำว่า "ทำไมๆๆๆๆๆๆๆๆ.....ทำไม" เต็มไปหมด เราลองมาดูกันนะครับว่า คำว่า "ทำไม" ส่งผลอย่างไรต่อเรา? ในภาวะเช่นนี้ การคิดในสมองของเราต่อคำว่า "ทำไม" อาจจะมาจากความรู้สึกหงุดหงิด (อาจถึงขั้นไม่พอใจ) ที่งานแยะอยู่แล้ว เจ้านายยังมาสั่งงานเพิ่มอีก โดยไม่ถามความเห็นเราสักคำว่าทำทันล่ะป่าว ยิ่งถามคำว่าทำไมมากขึ้น เราก็จะยิ่งมีโอกาสที่จะจมลงไปในความรู้สึกไม่พอใจ หงุดหงิดอารมณ์อาจจะขุ่นมัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้สมองไม่สามารถที่จะคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างสร้างสรรค์ได้ ทำให้เราต้องทำงานด้วยความรู้สึกที่ไม่ดี โอกาสที่ผลงานจะออกมาดี ออกมาทันเวลาก็ย่อมน้อยลง คราวนี้ลองมาดูกลุ่ม มนุษย์จอมพลัง กันบ้าง เขาจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร เมื่อได้รับมอบหมายงานด่วนมา ในสมองของเขาจะบอกว่า "อ่า ฮ้า โอกาสในการพิสูจน์ฝีมือมาอีกแล้ว เยี่ยมมากๆ เดี๋ยวเราจะจัดการทำงานให้ทันเวลาตามที่เจ้านายอยากได้และงานต้องออกมาดีด้วย" ในสมองของเขาจะไม่คิดคำว่า "ทำไม(why) ต้องข้าพเจ้าทุกทีเลย" ......แต่เขาจะคิดคำว่า "จะทำอย่างไรดี (how) ให้งานออกมาทันตามที่เจ้านายต้องการ" .....เขาใช้สมองในเชิงบวก มองหาทางออก และบางครั้งทางออกของเขาก็อาจจะทำให้เขาต้องสลับงานบางอย่าง เพื่อให้ทุกอย่างลงตัว หรืออาจจะต้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมก็เป็นได้ ....แต่สุดท้ายงานก็ออกมาทันตามความต้องการของเจ้านาย (และธุรกิจ) เมื่อเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค คนที่เป็น มนุษย์จอมพลัง จะเลือกแนวคิดเชิงบวกด้วยการมองหาทางออก (why) โดยไม่ยอมเสียเวลาและสมองกับเรื่องที่บั่นทอนพลัง (ไม่จมลงไปในดราม่า) 4) สร้างความรู้สึกรักและสนุกไปกับทุกสิ่งที่ทำ แนวคิดของคน มนุษย์จอมพลัง ก็คือจะอยู่ที่ไหน จะทำอะไรก็ตาม จะขอทำทุกอย่างให้สนุกและรักทุกสิ่งที่ทำ เพราะเขามีความเชื่อว่าถ้าเราได้ทำในงานที่เรารัก เราจะทำได้ดี เพราะเรามีความสุข แนวคิดนี้บอกว่า ไม่ว่ามนุษย์จอมพลัง จะทำงานที่ใดก็ตามเขาจะมีทัศนคติว่า.......... "ไหนๆ เราได้เข้ามาอยู่ในองค์กรนี้แล้ว เราควรจะต้องลองทำทุกอย่างให้เต็มที่ก่อน ทำด้วยความสนุกสนาน ด้วยความรัก และให้ระยะเวลามากพอที่จะพิสูจน์ตัวเองกับองค์กรนี้ และยังมองว่า ยิ่งทำมากยิ่งได้กำไรกับตัวเอง เพราะเราจะมีโอกาสได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น เราเก่งมากขึ้น และความเก่งนี้จะอยู่กับเราตลอดไป ไม่ว่าจะมีใครเห็นความเก่งนี้หรือไม่ก็ตาม“ 5) ความมีวินัย ความมีวินัยเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คน มนุษย์จอมพลัง ยังคงเดินหน้าทำงานทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ได้วางแผนไว้อย่างสม่ำเสมอ และเป็นธรรมดาที่แผนงานที่วางแผนไว้ตั้งแต่ต้นปี ก็จะต้องมีการปรับแต่งไปตามสถานการณ์ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในวินัยที่คนกลุ่มนี้ จะทำงานตามตารางเวลาที่ออกแบบไว้ และจะแก้ไขปรับปรุงตามความเป็นจริงอยู่เสมอ (plan vs actual) หากไปถามคนที่เป็น "High Performers" ว่าเดือนหน้านี้เขามีกิจกรรมสำคัญๆอะไรบ้าง เขาจะเปิดตารางเวลา ของเขาตอบเราได้เลย ทำให้เขาไม่ต้องกังวลกับการจดจำหรือหลงลืมกิจกรรมต่างๆ ทั้งในเรื่องงานและส่วนตัว 6) ล้มแล้วรีบลุกโดยเร็ว
ในการลงมือทำสิ่งต่างๆไม่ว่าเราจะมีประสบการณ์มากน้อยเพียงใด ก็ย่อมจะเจอกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เสมอ เวลาเจออุปสรรคล้มลุกคลุกคลานคนที่เป็น มนุษย์จอมพลัง จะรีบลุกขึ้นมาใหม่ ถามตัวเองว่าที่ผ่านมา เขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง และจะสามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง แล้วเริ่มลงมือลุยต่อ ไม่ถึงเป้าหมายไม่หยุด 7) เติมพลังระหว่างทาง เมื่อมนุษย์จอมพลัง ทำงานบางอย่างสำเร็จ แม้จะไม่ใช่เป็นเป้าหมายที่ใหญ่โตมากนัก เขาจะฉลองความสำเร็จเล็กๆนี้เสมอ เป็นการให้รางวัลในความมุมานะ ความพยายามให้กับตนเอง อาจจะเป็นอาหารแสนอร่อยสักมื้อหนึ่งเพื่อเพิ่มพลังในการสู้ต่อไป ถ้าจะกล่าวโดยสรุปแล้วปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์จอมพลัง สามารถสร้างผลงานและความสำเร็จที่แตกต่างจากคนอื่นได้คือ การใช้ความคิดเชิงบวกมาเป็นแรงขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้า มองว่ายิ่งทำมากยิ่งเก่งมากขึ้น ได้กับตัวเองมากขึ้น มองเป้าหมายในระยะยาวที่ตนเองจะได้มีโอกาสพัฒนาดีขึ้น หมั่นเติมพลังตัวเองเป็นช่วงๆในระหว่างทาง การวางแผนการทำงานที่เน้นคุณค่าความสำคัญเป็นหลัก รวมถึงการมีวินัย จนบรรลุเป้าหมาย เราทุกคนมีความสามารถที่จะเป็น High Performer หรือมนุษย์จอมพลัง ได้ โดยการเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดก่อนเป็นอันดับแรกว่า เรามีความปราถนาที่จะประสพความสำเร็จในชีวิต และเปิดใจกว้างศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมความสำเร็จต่างๆที่กล่าวมานี้แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเรา และที่สำคัญคืออย่าหยุดจนกว่าเราจะบรรลุเป้าหมาย