top of page

3 มุมมองต่อ “ความล้มเหลว” ในแบบ “คนสำเร็จ”


แม้ว่าทุกวันนี้ประชากรโลกเราทั้งใบจะมีจำนวนรวมกันกว่า 7,000 ล้านคนเข้าไปแล้ว แต่ถ้าให้แบ่งกลุ่มคน ออกตามลำดับของความสำเร็จก็คงแบ่งได้ไม่มากไปกว่า 3 กลุ่มเท่านั้น นั่นคือ

1) กลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จเห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจน 2) กลุ่มคนกลาง ๆ ไม่มีอะไรที่เด่นชัด ๆ อยู่ในมาตรฐานทั่วไป 3) กลุ่มคนล้มเหลวที่ไม่สามารถหยิบจับผลลัพธ์ใด ๆ และไร้ซึ่งความหวัง

ซึ่งความจริงในเรื่องนี้เชื่อว่าเรา ๆ ทั้งหลายก็คงจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่จะมีสักกี่คนกันที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่เป็น เส้นแบ่งเขตแดนของ “คนสำเร็จ” กับคนทั่วไปที่เหลือนั้นคืออะไร ?

ถ้าให้สืบย้อนตามรอยประวัติของคนสำเร็จตั้งแต่ในอดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จุดร่วมอย่างหนึ่งที่เราจะพบได้ว่าพวกเขามีเหมือน ๆ กันมักจะเป็นเรื่องราว “ความล้มเหลว” ที่เคยประสบพบเจอมาด้วยกันทั้งสิ้น โดยถ้าว่ากันตามเนื้อเรื่องของชีวิตคน ๆ หนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครหรือคนกลุ่มไหนจากทั้ง 3 กลุ่มที่ได้กล่าวไป ก็ต้องเคยเดินสะดุดกับจุดพลิดพลาดกันมาก่อนเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แต่สำหรับคนสำเร็จเขามีเคล็ดลับอะไรกัน จึงเปลี่ยนจุดผิดพลาดให้กลายเป็นจุดพลิกผันจนสร้างผลลัพธ์ชีวิตที่แตกต่างไปได้ในที่สุด

มันมักไม่ใช่เรื่องของปัจจัยภายนอกอย่างเงินทุน สายสัมพันธ์คอนเนคชั่น หรือแม้แต่ความเป็นอัจฉริยะเสมอไป ที่ฉุดคน ๆ หนึ่งลุกขึ้นจากความล้มเหลวได้อย่างสำเร็จ แต่เคล็ดที่จริง ๆ แล้วไม่ลับกลับฟังดูง่ายกว่านั้นคือเรื่องของ “มุมมองทัศนคติ” ที่บางทีอาจยากกว่าปัจจัยภายนอกและความฉลาดที่เราเลือกเองไม่ได้ซะอีก แล้วคนสำเร็จที่เคยมีชีวิตสะดุดในอดีตเขามีมุมมองแบบไหนกัน ? อีกทั้งเลือกปฏิบัติต่อความล้มเหลวอย่างไรกันบ้าง ? ถึงผ่านจุดนั้นมาได้ เราตามไปแกะความคิดของพวกเขากันครับ

1. ยืดอกรับ “ความผิดพลาด”

“คนที่ไม่เคยผิดพลาด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย” วาทะท้าทายความคิคนี้ของ “ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้อย่างตรงความจริงที่สุด เพราะการลงมือทำอะไรก็ตามโดยเฉพาะการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ย่อมต้องเผชิญความเสี่ยงอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา ในขณะที่ประวัติศาสตร์โลกไม่เคยจารึกเรื่องของคนที่เปลี่ยนชีวิตได้จากการทำสิ่งเดิมที่ให้ผลลัพธ์แบบเดิมเลยสักคน ดังนั้นการลงมือทำจึงเป็นกุญแจดอกแรกสำหรับไขประตูไปสู่ก้าวใหม่ ๆ อย่างแท้จริง

ด้วยเหตุผลที่ “ว่าที่คนสำเร็จ” ล้วนตระหนักถึงข้อนี้ดี เขาจึงเลือกลองเสี่ยงแม้ในใจอาจจะหวั่นกลัว ในขณะที่ความกล้าหาญยิ่งกว่า คือ ‘การกล้ายอมรับในความผิดพลาด’ หากมีเหตุไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นหรือผลลัพธ์เกิดพลาดเป้าขึ้นมา เขาจะยืดอกรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง และการยอมรับในประสบการณ์ล้มเหลวนี้เองที่นำไปสู่การเรียนรู้ เพื่อที่จะลุกขึ้นมาทำความสะอาดปัดเนื้อปัดตัวแล้วก้าวเดินใหม่อีกครั้ง ด้วยการวางแผนที่ผ่านการปรับปรุงแก้ไขใหม่มาแล้วนั่นเอง

2. “ความท้อแท้” เป็นเพียงอารมณ์ชั่วคราว

ในช่วงเวลาที่ชีวิตเจอมรสุมหรือตกหลุมอากาศ เป็นช่วงจังหวะที่ “ความท้อแท้” มักแวะเวียนเข้ามาทักทายถามหาทุกคนอยู่แล้ว หลายคนกอดความรู้สึก Fail นั้นไว้ไม่ยอมปล่อยออกไปเป็นเวลาข้ามเดือนข้ามปี ขณะที่ “ว่าที่คนสำเร็จ” ไม่กักเก็บสิ่งเหล่านั้นไว้กับตัวนาน เพราะเข้าใจดีว่ามันเป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดของชีวิต

เพราะความท้อแท้ ความรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง มันไม่ใช่ความจริงของตัวเรา แต่เป็นเพียงสภาวะทางอารมณ์ชั่วคราวที่เกิดขึ้นภายในจิตใจเท่านั้น เกิดขึ้นจริง ๆ หรือเปล่าบางทีเราก็ยังไม่รู้ แต่หลายต่อหลายคนเลือกที่จะยึดจับว่ามันเป็น “ความจริง” แล้วเหมารวมว่าชีวิตจะต้องเป็นไปตามนั้นทั้งหมด เป็นทัศนคติที่ปิดตาและปิดโอกาสในอนาคตที่อาจสดใสไปอย่างน่าเสียดาย

ลักษณะของว่าที่คนสำเร็จที่มีต่อความท้อแท้ จึงไม่ตกหลุมพรางความรู้สึกของตัวเอง แต่เลือกที่จะเข้าใจ ปล่อยวาง และจัดการกับห้วงอารมณ์นั้น พลิกขั้วลบให้กลับเป็นชั้วบวก เปลี่ยนความผิดหวังให้กลายเป็นแรงผลักดัน เพราะถ้าเขายังไม่ยอมฟื้นจากสภาวะลบ ๆ เหล่านั้น ป่านนี้เราคงไม่มีทางได้เห็นเขาประสบความสำเร็จเป็นแรงบันดาลใจให้เราอย่างทุกวันนี้แน่นอนครับ

3. เข้าใจธรรมชาติของ “ความล้มเหลว – ความสำเร็จ”

ตามสัจธรรมของกราฟจังหวะชีวิตนั้นมีทั้งขาขึ้นและขาลง โดยเฉพาะเส้นกราฟของคนสำเร็จยิ่งต้องผ่านสนามทั้งล้มทั้งลุกมาโชกโชนยิ่งกว่าคนทั่วไปหลายเท่า จนพวกเขามองเห็นว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นระหว่างทางไปสู่ความสำเร็จนั้นถือเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดา

ดังคำกล่าวที่ไม่เคยตายของชายผู้ให้แสงสว่างกับโลกอันลือลั่น “โทมัส เอดิสัน” ที่ว่า “ผมไม่ได้ล้มเหลว ผมแค่ค้นพบวิธีที่ไม่สำเร็จ 10,000 วิธีเท่านั้นเอง” วลีสุด Strong นี้สะท้อนธรรมชาติที่สัมพันธ์กันของ “ความล้มเหลว” กับ “ความสำเร็จ” ได้เป็นอย่างดี เพราะคงมีโอกาสเป็นไปได้ยากมากที่การลงมือทำจะประสบผลสำเร็จสมบูรณ์แบบได้ตั้งแต่ครั้งแรกทุกครั้งไป เหล่าว่าที่คนสำเร็จจึงเข้าใจดีว่าตลอดทางของพวกเขาจะต้องเต็มไปด้วยการทดลองและทดสอบสมมุติฐานเพื่อค้นพบวิถีทางที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ฉะนั้นพวกเขาจึงไม่ด่วนตัดสินตีตราว่าความล้มเหลวนั้นคือความพังพินาศของทั้งชีวิต หากแต่เป็นทางผ่านไปสู่ความสำเร็จเท่านั้นเอง

มุมมองทัศนคติเหล่านี้อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ทว่าในการเผชิญความจริงกลับทำได้ยากกว่าที่คิดไม่รู้ตั้งกี่เท่า เพราะถ้ามันง่ายเหมือนปอกล้วยเข้าปาก เราคงได้เห็นคนสำเร็จมีอยู่ทั่วทุกหัวหาดมากกว่าทุกวันนี้ และด้วยความยากนี่แหละครับ มันจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายหัวจิตหัวใจของใครหลาย ๆ คน ซึ่งถ้าคุณสามารถรับเอามุมมองเหล่านี้ไปใช้ เอาชนะใจตัวเองได้ในวันที่สิ้นหวังท้อแท้ ลุกขึ้นมาได้แล้วก้าวไปข้างหน้าต่อ ก็ต้องขอแสดงความยินดีสู่ “ว่าที่คนสำเร็จคนต่อไป” ล่วงหน้าครับ

bottom of page