top of page

ความฉลาดทางอารมณ์กับ Collaboration ในทีม


team collaboraton

“None of us are as smart as all of us.” “ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งฉลาดกว่าพวกเราทั้งหมด (รวมกัน)” - สุภาษิตญี่ปุ่น

การทำงานเป็นทีมและการทำงานร่วมกันนับเป็นวิวัฒนาการที่สำคัญของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ซึ่งเป็นที่มาของมนุษย์ในทุกวันนี้ หากย้อนกลับไปในยุคที่เกิด Homo Sapiens แรก ๆ นั้น สมองส่วนหน้าที่พัฒนาการได้ดีกว่าลิงชิมแปนซี ทำให้มนุษย์รอดพ้นจากภยันตรายข้างนอกด้วยการอยู่ร่วมกัน สู้ร่วมกัน ล่าร่วมกัน และสร้างทักษะทางสังคมรวมทั้งการสื่อสารเพื่ออยู่ร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ทำให้มนุษย์จากเดิมเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับกลางค่อนไปทางล่างของห่วงโซ่อาหาร กลับแซงหน้าสัตว์ทุกสปีชีส์และขึ้นไปอยู่สูงสุดบนห่วงโซ่อาหารได้อย่างรวดเร็วตามวิวัฒนาการทางสังคม มนุษย์กลายเป็นผู้ล่าและผู้ควบคุมโดยสมบูรณ์สืบเนื่องมาจากการร่วมมือกัน ดังนั้นมนุษย์ที่ทำงานร่วมกันกับคนอื่นได้มักจะเป็นผู้รอดมากกว่ามนุษย์ที่นึกถึงแต่ตัวเองและทำเพื่อปกป้องตัวเองเพียงคนเดียว ซึ่งวิวัฒนาการนี้ยังใช้ได้มาจนถึงยุคปัจจุบัน แม้สภาพแวดล้อมและบริบทจะเปลี่ยนแปลงไปชนิดที่เหมือนอยู่คนละจักรวาล แต่อันตรายที่มนุษย์ยุคนี้เผชิญได้เปลี่ยนหน้าจากสัตว์ดุร้าย ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ ความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีแทน ผู้เขียนได้อ่านหนังสือของเจ้าพ่อ Emotional Intelligence อย่าง Daniel Goleman และได้รับรู้ว่าเขาได้ศึกษากรณีตัวอย่างจากองค์กรชั้นนำระดับโลกมากมายจริงๆ หนึ่งในนั้นคือบทสัมภาษณ์ของ Venture Capitalist รายใหญ่ใน Silicon Valley ที่พูดไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในยุคนี้เรามีเทคโลโนยีที่ล้ำยุคมากพอ มีผู้ประกอบการจำนวนมากพอ เงินลงทุนมหาศาล รวมถึงนักลงทุนก็มีมากมายเช่นกัน แต่สิ่งที่เราขาดกลับเป็นทีมงานที่ดีพอ เวลาที่มีทีมสตาร์ทอัพมา pitch เพื่อขอเงินลงทุน พวกเขามักพยายามขายไอเดียเรื่องเทคโนโลยี สินค้า หรือบริการ แต่จริงๆ แล้วนักลงทุนส่วนใหญ่มักพิจารณาที่คุณสมบัติของผู้ร่วมก่อตั้ง ทีมงาน และวิธีที่พวกเขาทำงานร่วมกันมากกว่า ในระหว่างการสัมภาษณ์ ผมมักถามเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม เช่น พวกเขาบริหารทีมอย่างไร แบ่งหน้าที่กันอย่างไร จัดลำดับความสำคัญร่วมกันอย่างไร วิธีประเมินผลการทำงานของตัวเองและทีม รวมถึงวิธีการรับมือกับทีมงานที่มีผลงานไม่ดีตามมาตรฐานหรือไม่ยอมทำงานเป็นอย่างไร เนื่องจากผมต้องพิจารณาสัญชาตญาณ ไหวพริบ ระบบความคิด และค่านิยมของบรรดาผู้ร่วมก่อตั้ง (ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะบ่งบอกถึงแนวโน้มการอยู่รอดในการสร้างสตาร์ทอัพ)” ดังนั้น ทีมงานที่จะทำงานซึ่งยากและท้าทายได้นั้น จำเป็นต้องมีส่วนผสมของ (ความฉลาด) ความเชี่ยวชาญแต่ละด้านอย่างลงตัว และความฉลาดทางอารมณ์ สอดคล้องกับผลการศึกษาระยะยาวของ Google จาก Big Data ภายในนั้นน่าสนใจมากทีเดียว ด้วยความพยายามที่จะรู้ให้ได้ว่า คนแบบไหนและทีมงานแบบไหนจึงจะทำให้ Google เติบโต ก้าวหน้า และสร้างผลงานในระดับเหนือคนทั่วไปอย่างแท้จริง ซึ่งมีเป้าหมายในการหารูปแบบการจัดทีม (ซึ่งเป็นสิ่งที่ Google ถนัดเหลือเกิน) เพื่อสร้างทีมงานที่สมบูรณ์แบบ และเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบการสรรหาคัดเลือก และการพัฒนาบุคลากร ซึ่งผลที่ได้นั้นสร้างความประหลาดใจกับเราๆ ไม่มากก็น้อย

จากการศึกษาระยะยาวนานหลายปี ที่เข้าไปสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลกับทีมงานหลายร้อยทีมทั่วทั้งบริษัท ทีมนักวิจัยกลับไม่พบรูปแบบที่บ่งชัดว่า คนหรือผู้นำทีมลักษณะแบบไหนที่จะทำให้ทีมแต่ละทีมนั้นประสบความสำเร็จและสร้างผลงานในระดับสูงสุด อย่างไรก็ตาม มาในระยะหลังๆ นี้ ทีมวิจัยกลับพบว่าคำตอบไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่กลับอยู่ที่บรรทัดฐานการทำงานของทีม การค้นพบนี้ได้มาจากการสังเกตการณ์ตอนที่ประชุมและทำงานร่วมกันของทีมสองแบบ นั่นคือ Team A player ที่รวมเอาคนระดับหัวกะทิที่ฉลาดเข้าขั้นอัจฉริยะและทำผลงานได้ดีกว่าพนักงานทั่วไป (exceptionally smart and successful) เมื่อพวกเขาทำงานด้วยกันจะกำหนดหัวข้อเรื่องที่ชัดเจน มีคนใดคนหนึ่งคอยเป็นผู้นำเสนอและพูดแบบยาวๆ เพื่ออธิบายเรื่องราวในพื้นที่ความเชี่ยวชาญของตัวเอง รวมถึงคำแนะนำที่ทีมควรจะทำ และเมื่อมีใครคอมเม้นท์หรือพูดนอกเรื่อง คนพูดจะหยุดและเตือนให้ทุกคนกลับเข้าสู่วาระที่กำลังคุย ทีมนี้ทำงานแบบมีประสิทธิภาพสูงสุด และเลิกประชุมตรงตามเวลา ไม่เคยเสียเวลาให้กับเรื่องนอกประเด็น เพื่อให้ทุกคนกลับไปทำงานของตัวเองโดยเร็วที่สุด ในขณะที่ Team B player จะมีบรรยากาศการทำงานที่ต่างออกไป Team B player คือ ทีมที่รวมผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จ กับผู้บริหารระดับกลางที่มีผลงานความสำเร็จบ้างเล็กน้อย ปรากฏว่าในการประชุม พวกเขาเฉออกนอกประเด็นบ้าง ผลัดกันพูด นำเสนอไอเดียต่อยอดจากคนอื่นที่นำเสนอไว้ และเมื่อมีใครที่พาทีมคุยออกนอกประเด็น ทั้งทีมก็จะตามออกนอกวาระไปด้วยเช่นกัน เพื่อพูดคุยเรื่องนั้น หลังจบการประชุม พวกเขายังนั่งกันต่ออีกซักเล็กน้อยเพื่อจับกลุ่มซุบซิบพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวบ้าง แน่นอนว่าประสิทธิภาพการทำงานย่อมไม่เท่ากับ Team A แน่นอน