top of page

3 ข้อฉุกคิด ยุติปมขัดแย้งในที่ประชุม

วิธีการยอดนิยมของทุก ๆ องค์กรที่ใช้สำหรับการระดมสมอง รวบรวมความคิด เพื่อช่วยรีดไอเดียจากทีมงานทุก ๆ คน แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นรูปแบบของ “การประชุม” ไม่ว่าจะประชุมกลุ่มย่อย ๆ หรือประชุมขนาดใหญ่ รวมถึงการประชุมในกรณีที่มีภาวะสำคัญในเรื่องใหญ่ ๆ หรือเรื่องเร่งด่วน จนต้องเปิดพื้นที่พิเศษที่เรียกว่า “War Room” ขึ้นมาเพื่อวางแผน หาทางออก ยุทธวิธีที่จะไปต่อ จากการร่วมด้วยช่วยกันแชร์ข้อมูลและความคิดของผู้นั่งประจำเก้าอี้ทุกตัว

ฟังดูเป็นวิธีการในอุดมคติที่ดีเยี่ยมด้วยจุดประสงค์ที่ช่วยเป็นเครื่องนำทางในการก้าวต่อไป แต่หลายต่อหลายครั้งเราคงเคยมีประสบการณ์ได้เห็นกันมาแล้วว่า ผลลัพธ์กลับหักมุมไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ บางครั้งหนักหน่วงถึงขั้น “พัง” เลยก็มี ! ซึ่งส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากวิธีคิด ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ไม่พร้อมที่จะยืดหยุ่น ไปจนกระทั่งไม่มีพื้นที่ตรงกลางที่สมดุลลงตัวให้แก่กัน แทนที่จะร่วมมือกลับกลายเป็นสงคราม ข้อพิพาทให้แตกคอกันอย่างน่าเสียดาย

ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเปลืองพลังงาน เสียเวลา และเสียโอกาสอันดีไปกับการประชุมที่ไม่ได้ผล เราควรมาปรับความคิดกันก่อนที่จะเกิดปมคัดแย้งกลางห้องประชุม ด้วยประเด็นให้ลองฉุกคิดกันดังนี้ครับ

1. วิพากษ์ vs วิจารณ์

เป็นธรรมดาที่ความคิดหลากหลายแง่มุมย่อมดีกว่ามุมใดมุมหนึ่งแค่มุมเดียว การแสดงความเห็นจากหลายความคิดต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงถือเป็นการมองจากหลายมุมที่ในบางครั้งเราอาจไม่เคยมองเห็น ทำให้ได้ ทั้งความคิดใหม่ ๆ และข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ครบรอบด้านมากยิ่งขึ้น

แต่เส้นบาง ๆ ระหว่างการ “วิพากษ์” กับ “วิจารณ์” ที่หลาย ๆ คนลืมแยกแยะจนเผลอล่วงล้ำเส้นแบ่งนี้ สามารถก่อให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้งที่คุกรุ่นขึ้นมากลางโต๊ะประชุมได้ ทั้งนี้ต้องขอหยิบยกความหมาย ที่ “คุณวินทร์ เลียววาริณ” นักคิดนักเขียน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และเจ้าของรางวัลซีไรต์ 2 รางวัล ได้อธิบายไว้ในบทความ “วิพากษ์กับวิจารณ์ ต่างกันอย่างไร” ที่ facebook.com/winlyovarin ได้กล่าวไว้ว่า...

“วิพากษ์” (judge) มีความหมายไปในเชิงการพิพากษา มีการใช้อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปตัดสิน ซึ่งมักเป็นไปในทางลบซะเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ “วิจารณ์” (comment) มีความหมายไปในเชิงของการพิจารณา หรือ ดูงานแล้วว่าตามเนื้อผ้า ผ่านการวิเคราะห์แล้วว่ากันด้วยเหตุผล

แล้วในการประชุมแต่ละครั้งล่ะครับ เราได้ระดมความคิดที่วิเคราะห์ตามด้วยเหตุผล ช่วยเสริมเติมจุดที่ขาดให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หรือโยนอารมณ์ฟาดลงไปกลางโต๊ะประชุม โดยไม่ได้มีข้อมูลอะไรประกอบนอกจาก ความรู้สึกส่วนตัว อันนี้ต้องลองไปสำรวจกันดี ๆ นะครับ เพราะแค่สลับจาก ‘เหตุผล’ มาใช้ ‘อารมณ์’ ขึ้นนำ นอกจากจะไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรแล้ว ยังสามารถทำให้การหารือที่มีความหมายพังไม่เป็นท่าได้เลย ทีเดียว

ฉะนั้นลองฉุกคิดดูสักหน่อยสิครับ ว่าเราควรจะใช้การ “วิพากษ์” หรือ “วิจารณ์” ในที่ประชุมดี ?

2. เอาชนะโจทย์ร่วมกัน vs เอาชนะพวกเดียวกัน