top of page

4 วิธีดึง “ศักยภาพ” ลูกทีมอย่างได้ผลที่สุด


ดึงศักยภาพทีมงาน

การทำงานเป็นทีมไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครแค่คนใดคนหนึ่ง แต่ประกอบร่างขึ้นจากทุกคนทั่วทั้งทีม ความจริงข้อนี้ใคร ๆ ก็รู้ทั้งนั้นแหละครับ แต่ไม่ใช่ทุกทีม ทุกองค์กร จะเข้าถึงคำว่า “ทุกคน” ได้อย่างลึกซึ้งไปซะหมด ในบางกรณีการพัฒนาทีมงานที่เป็นไปแบบกระท่อนกระแท่น เพราะไม่สามารถดึงศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ในทีมออกไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งที่ Asset หรือ “สินทรัพย์” เหล่านี้มีฝังอยู่ในทีมของคุณอยู่แล้ว ดังนั้นหากต้องการพัฒนาคน พัฒนาทีมของตัวเอง ก่อนจะออกไปเสาะแสวงหารูปแบบการพัฒนาจากภายนอก ขอให้ลองย้อนหันกลับไปมองยังสิ่งที่มีอยู่สักนิด ว่าเราจะงัด “ของ” ที่มีอยู่ในตัวคนของเราออกมาได้อย่างไรบ้าง

1. รู้จักสังเกต ไม่ใช่แค่ดูจากตัวผลงานที่ออกมาให้เห็น แต่อยากให้ลองทำตัวเหมือนเป็นแมวมองคอยสอดส่องดูว่าผู้ร่วมทีมคนไหนมักจะใช้ทักษะ มีเทคนิค หรืองัด Tactic เฉพาะตัวอะไรบางอย่าง ออกมาใช้ในแต่ละขั้นตอนการทำงานของเขาบ้าง เช่น ... - เขามีวิธีติดต่อ สื่อสาร ต่อรองยังไงถึงได้ดีลดี ๆ เสมอ - เขาช่างสังเกต หยิบจับไอเดียความคิดต่าง ๆ รอบตัวมาประยุกต์ช้ได้ดี - หรือเขาเป็นนักเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ กลั่นกรองเรื่องยาก ๆ ให้สรุปออกมาดูง่าย เพราะทุกคนมีความสามารถเฉพาะตัวที่ซ่อนเร้นอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เราจึงต้องจับตามองสิ่งเหล่านี้ให้ดี ๆ เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนต่อไปครับ

2. หยิบยื่นโอกาส เมื่อเราสังเกตจนพอจะเห็นแววอะไรบางอย่างในตัวเขาแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องลองมอบหมายภารกิจที่ดูน่าท้าทายทักษะด้านนั้น ๆ ของเขากันแล้วล่ะครับ ตรงนี้คงไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงว่าเขาจะรู้สึกอึดอัดใจกับภารกิจที่เรามอบให้หรือเปล่า เพราะถ้าเป็นสิ่งที่ตรงกับความสามารถของเขาจริง ๆ เจ้าตัวเขาก็จะอยากคว้ามันมาทำเพื่อทดสอบศักยภาพของตัวเองเช่นกัน ลองนึกภาพตามดูสิครับ สำหรับคนที่ช่างพูดช่างคุย ชอบการแสดงออก รักการสื่อสารต่อหน้าผู้คนเป็นชีวิตจิตใจ ถ้าเรามอบหมายให้เขาออกไปทำหน้าที่พิธีกร คิดว่าเขาจะมีท่าทีที่อึดอัด อิดออด หรือเขาจะตื่นเต้นจนอยากคว้าไมค์ขึ้นเวทีมันซะเดี๋ยวนั้นเลยกันแน่ นี่จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะหยิบยื่นโอกาส ปล่อยให้เขาโชว์ฝีมืออย่างเต็มที่ โดยมีเราเป็นเสมือนพี่เลี้ยงคอยเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ ครับ

3. Feedback อย่างสร้างสรรค์ ข้อควรจำอย่างหนึ่งของคนที่พัฒนาตัวเอง คือเขามักต้องการเสียงสะท้อนในสิ่งที่เขาทำเสมอ เขาอยากจะรู้ว่าตัวเองทำได้ในระดับไหน ? ผลงานออกมาดีพอแล้วหรือยัง ? เขามาถูกทางแล้วใช่ไหม ? แล้วเขาควรจะไปยังไงต่อ ? มาถึงตรงนี้บทบาทของเราคือการชี้แนะในบางจุดทีเขาอาจมองไม่เห็นครับ อาจไม่ถึงขั้นต้องไปชี้นิ้วบอกให้เขาทำตามเป็นฉาก ๆ เพียงแค่ให้คำแนะนำปรึกษา ทำหน้าที่เป็นกุนซือ โดยที่ไม่ต้องไปลงสนามแทนซะเอง ให้เขารู้สึกเสีย self ซะเปล่า ๆ ครับ

4. ผลักดันส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดที่กล่าวมาอาจพัฒนาไปได้ไม่ถึงไหน ถ้าเราทำบ้าง ไม่ทำบ้าง หรือทิ้งช่วงไปนาน ๆ จนฝุ่นจับ “ความต่อเนื่อง” ถือเป็นกุญแจสำคัญของการดึงศักยภาพในทุก ๆ ด้านครับ เราจึงต้องหมั่นดึงของดีในตัวลูกทีมออกมาใช้อย่างสม่ำเสมอ พัฒนาเขาไปอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันความสามารถของเขาให้เชื่อมต่อกับจุดแข็งของคนอื่น ๆ ผสานเข้ากันจนเป็นศักยภาพก้อนใหญ่ของทีม ดังนั้นหาโอกาสที่จะอัพเกรดความสามารถด้านนั้น ๆ ของเขาให้ Advance ขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเสนอโปรเจ็กต์ที่น่าสนุกสำหรับเขา หรือส่งไปอบรมเพิ่มระดับทักษะเป็นระยะ ๆ เพราะของอย่างนี้ยิ่งลับมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งคมมากเท่านั้นครับ เพียงเราดึงของที่ถูกต้องออกมาใช้ให้ถูกจุด ก็จะเข้าตำราการบริหารบุคคลฉบับคลาสสิกที่กล่าวไว้ว่า “Put The Right Man on The Right Job” ได้อย่างลงตัว แถมยังสร้างให้คนของเราเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเป็นประโยชน์ เขาจะรู้สึกเป็นว่าส่วนหนึ่งที่สำคัญของทีม เกิดเป็นความผูกพันในงานและทีม และรักที่จะพัฒนางานของตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกด้วยครับ