วิธีค้นคนต้นแบบ 3 ระดับ เพื่อเปิดทางสู่ความสำเร็จ

หลายคนคงจะรู้กันเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่าเราอยู่ในยุคที่การพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายมาก ๆ
เพียงแค่เปิดหน้าจอมือถือก็สามารถค้นหาแหล่งข้อมูลความรู้มาประดับสติปัญญาได้ตั้งมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นขุมสมบัติที่แชร์ให้กันฟรี ๆ อย่าง Youtube Channel , Facebook Page , Website
และ Podcast ต่าง ๆ ที่มีผู้คนออกมาแบ่งปันเรื่องราวในทุก ๆ ด้านของการพัฒนาชีวิต
นี่ยังไม่นับรวมร้านหนังสือที่มีอยู่ทั่วทุกมุมเมือง (ใครว่าคนไทยอ่านหนังสือแค่ปีละ 8 บรรทัด)
และสัมมนา/Workshop ที่น่าสนใจอีกสารพัดหัวข้อ
ดังนั้นปัญหาจริง ๆ ของคนยุคนี้จึงไม่ใช่ประเด็นที่ว่า “ไม่รู้จะไปหาความรู้จากที่ไหน ?”
แต่ด้วยความที่มีอยู่ครอบจักรวาลเต็มไปหมดจนกลายเป็น “Information Overload”
ภาวะนี้ทำเอาหลายคนเลือกไม่ถูกว่าข้อมูลไหนที่เหมาะกับตัวเอง เพราะถ้าจะให้เหมาเอามาทั้งหมด
ก็คงเกินกำลังที่จะโฟกัสไหว ในที่สุดจึงสะเปะสะปะเพราะหาแนวทางที่เหมาะกับตัวเองไม่เจอ
สำหรับใครที่รู้สึกว่าตัวเองก็ตกอยู่ในภาวะเช่นเดียวกันนี้ อยากให้กลับมาตั้งหลักกับวิธีเบสิกง่าย ๆ
ด้วยการค้นหา “Role Model” ของตัวเองกันก่อนครับ ลองไปดูกันสิครับว่าคนที่เราต้องค้นหาให้เจอ
เพื่อเป็นต้นแบบหลักยึดที่เหมาะกับเราจริง ๆ นั้น มีใครกันบ้าง ?
1. “Idol” ที่มีชื่อเสียง
ldol ในที่นี้จะเป็นบุคคลในภาพระดับใหญ่ ๆ อาจเป็นใครก็ตามที่เรารู้สึกว่าเป็นแบบอย่างในด้านที่เราอยากเป็น เป็นคนเก่งมีชื่อเสียงในสายงานด้านที่เราอยากทำ เช่น อยากเป็น CEO นักบริหารชั้นยอด , อยากเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หรือเป็นนักคิด นักเขียน วิทยากรที่มีชื่อเสียง
หรืออาจเป็นคนที่ให้แนวคิด เป็นเแรงบันดาลใจให้กับเราในด้านต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะในเรื่องของการทำงานเพียงอย่างเดียว อาจเป็นเรื่องของ Life Style การใช้ชีวิต เช่น มีอิสรภาพทางการเงิน ออกเดินทางรอบโลก ได้ทำในสิ่งที่มีความสุขควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตที่ลงตัว มีเวลาใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เรารักอย่างเต็มที่
Role Model ในระดับนี้เรามีไว้เพื่อเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจในการค้นหาเส้นทางที่ตรงจริต , ความสามารถ , ความสนใจ และความชอบของเรา รวมทั้งเป็นภาพใหญ่ที่เราอยากไปให้ถึง หรือเป็นเป้าหมายแบบที่เราใฝ่ฝัน (ในแบบที่ไม่ได้ลอกคนอื่น)
ในเบื้องต้นให้ลองไปอ่านหนังสือ ศึกษาเรื่องราวคนสำเร็จในหลากหลายด้านแบบกว้าง ๆ ไปก่อนครับ
เมื่อเราพบแล้วว่าคนนี้นี่แหละที่เรา ‘อิน’ คนนี้แหละที่ใช่ Idol ในแนวของฉัน ฉันอยากเป็นแบบเขาจริง ๆ
ก็อย่ามัวรอช้าครับ ศึกษาประวัติความเป็นมาถึงวิธีคิดและสิ่งที่เขาทำแบบลงลึกไม่ต่างกับแฟนพันธุ์แท้
จะช่วยให้เราเข้าใจถึงวิธีการเดินบนเส้นทางนั้นมากขึ้น และอาจได้ค้นพบอะไรที่ตรงใจเรายิ่งขึ้นไปอีกครับ
2. “Mentor” ที่จะเป็นพี่เลี้ยง
หากได้คำตอบกับตัวเองแล้วว่าเราอยากเดินไปในเส้นทางไหน ได้เวลาพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของเรื่องนั้นอย่างจริงจังกันแล้วครับ เราอยากรู้ตรงไหนก็ไปศึกษา เราอยากหาอะไรเพิ่มเติมก็ให้เริ่มเรียนรู้
เราอยากฝึกให้เก่งอย่างจริงจังก็ตั้งต้นลงมือทำ เมื่อเริ่มก้าวเข้าไปสู่วงในมากขึ้นก็จะเริ่มรู้เองแหละครับว่าเราต้องไปเสาะแสวงหาอะไร ? จากตรงไหน ? โดยเรียนรู้จากใคร ?
ซึ่งถ้าถามว่าศึกษาด้วยตัวเองอย่างเดียวไม่พอเหรอ ? ก็ถ้ารู้สึกว่าแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับเรา
ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดครับ อยู่ที่ความพอใจของแต่ละคนล้วน ๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่า ‘เท่านี้ไม่พอแล้ว’ หรือ ‘รู้สึกตันไปต่อไม่ถูก’ ก็ถึงเวลาที่ต้องหาคนมาช่วยนำทางให้เราต่อแล้วล่ะครับ
ในการตามหาใครที่มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาให้กับเราได้นั้นมีอยู่ 2 หนทางหลัก ๆ คือ...
1) หาจากคนใกล้ตัวที่เก่งในเรื่องนั้น ๆ อาจหาได้จากแวดวงการทำงาน หรือ Connection ส่วนตัว
เช่น เพื่อนที่เก่ง ๆ หรือผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จที่รู้จักเคารพนับถือ ถ้ามีคนลักษณะนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมรอบข้างอยู่แล้วก็จะช่วยเราได้มาก แต่ถ้าหากว่าไม่มีจริง ๆ ก็ลองหนทางที่ 2 ดูครับ
2) เลือกหากูรู ผู้เชี่ยวชาญ โค้ชเก่ง ๆ ที่เป็นตัวจริงของวงการนั้น แล้วเข้าไปศึกษากับเขาสักครั้งสองครั้ง
ก็จะพอดูออกแล้วล่ะครับว่าคนไหนมีสไตล์และแนวทางที่ตรงกันกับเรา เราสามารถฝากเนื้อฝากตัวเป็น
ลูกศิษย์ ผูกสัมพันธ์ Connection ร่วมกัน ขอคำปรึกษาแนะนำจากเขาได้อย่างตรงจุดที่เราอยากพัฒนา
ในความเป็นจริงเรามักมองไม่เห็นในสิ่งที่เราขาดอยู่จริง ๆ ซึ่งที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงนี่เองจะสามารถมองเห็นจุดที่เรามองข้ามไปได้ และการได้เรียนรู้พัฒนาหรือแม้แต่การได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับคนเก่ง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ กัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ พี่เลี้ยงเก่ง ๆ หรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ จะพาเราก้าวกระโดดขึ้นบันไดขั้นต่อไปได้ไวขึ้นมากเลยทีเดียวครับ
3. “ตัวเราเองนี่แหละ”
จุดนี้ให้สโคปกลับเข้ามาที่ตัวเราเองนี่แหละครับ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งสิ่งต่าง ๆ จะค่อย ๆ หล่อหลอมให้เราเป็นเราในแบบฉบับของตัวเอง เพื่อค้นเจอจุดมุ่งหมายที่แท้จริงในที่สุด
ตั้งแต่ต้นไปจนตลอดทั้งเส้นทางเราจึงต้องโฟกัสที่การค้นหาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ จากถนน Main หลักที่เราค้นพบในตอนแรก มาจนถึงทางแยกย่อยที่มีให้เลือกไปต่อในแต่ละสาย ให้คอยหมั่นวัดชีพจรความรู้สึกของตัวเองอยู่เป็นระยะ ๆ ว่าอะไรที่เหมาะกับเรา แนวทางไหนที่เราควรพัฒนาก้าวไปต่อ ทบทวนตัวเองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง
ทั้งหมดนี้เริ่มจากการค้นหา Role Model ของตัวเองแล้วเดินไปบนเส้นทางในแบบของเรา เพียงเท่านี้ก็จะสามารถกรองได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เราจะเลือกรับเข้ามา อะไรคือสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับเรา แล้วชีวิตจะเดินไปแบบไม่หลงทาง ไม่ต้องเสียเวลาแวะตรงนั้นทีตรงนี้ที ในทางตรงกันข้ามมันจะเป็นการเดินทางอย่างมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน จนวันหนึ่งเราอาจไปถึงจุดที่กลายเป็น Role Model ของคนอื่นต่อไปก็ได้ ใครจะไปรู้